วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

บทบาทสารสนเทศกับสังคม

............................................................................
  การปฏิวัติด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมอย่างมาก เทคโนโลยีและการสื่อสารเข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตและวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคม ทั้งด้านความเป็นอยู่ การสื่อสาร การทำงาน การคมนานคมและการขนส่ง ธุรกิจและอุตสาหกรรม การแพทย์ วัฒนธรรม และการศึกษา
ในปัจจุบันนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทำให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และการสื่อสารได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีขนาดเล็กลง หรือที่เรียกว่า “นาโนเทคโนโลยี” (Nanotechnology) ทำให้การสื่อสารข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์เป็นไปอย่างฉับพลันผ่านทางด่วนสารสนเทศ (Information Superhighway) เช่น เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้หลายพันล้านคนทั่วโลกและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งช่วยให้การเข้าถึงสารสนเทศและบริการต่างๆ เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วและไร้พรมแดน โดยอาจเรียกได้ว่าเป็น “สังคมอิเล็กทรอนิกส์” หรือ “ชุมชนอิเล็กทรอนิกส์”


เทคโนโลยีสารสนเทศกับการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบัน
เทคโนโลยีสารสนเทศ คือเทคโนโลยีคู่โลกในต้นศตวรรษที่ 21 และเป็นแรงกระตุ้นและเป็นปัจจัยรองรับ ขบวนการโลกาภิวัฒน์ ที่กำลังผนวกสังคมเศรษฐกิจไทยเข้าเป็นอันหนึ่งเดียวกันกับสังคมโลก ซึ่งเทคโนโลยีสารสนเทศมีใช้ในประเทศไทยเป็นเวลาช้านานมาแล้ว เป็นต้นว่า เรามีการใช้โทรศัพท์ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.2414 เพียงแต่ว่าการใช้เทคโนโลยีนี้ยังไม่แพร่กระจายทั่วประเทศและยังไม่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับอีกหลายๆ ประเทศในโลก
นอกจากการเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ทำลายธรรมชาติหรือสร้างมลภาวะ (ในตัวของมันเอง) ต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว คุณสมบัติโดดเด่นอื่นๆ ที่ทำให้มันกลายเป็นเทคโนโลยียุทธศาสตร์สำคัญแห่งยุคปัจจุบันและในอนาคตก็คือ ความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพและสมรรถภาพในเกือบทุกๆ กิจกรรม อาทิโดย
  1. การลดต้นทุนหรือค่าใช้จ่าย
  2. การเพิ่มคุณภาพของงาน
  3. การสร้างกระบวนการหรือกรรมวิธีใหม่ๆ
  4. การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ขึ้น

เทคโนโลยีสารสนเทศกับการพัฒนาสังคม
เทคโนโลยีสารสนเทศ จัดว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศของทุกประเทศก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะแม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะยังไม่มีบทบาทโดดเด่นในการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและการค้าในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม แต่ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในด้านการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการจัดให้บริการสังคมพื้นฐาน (การศึกษา และการสาธารณสุข ฯลฯ) ในการบริหารประเทศ และในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศได้กลายเป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีการประมาณการว่าตลาดโลกสำหรับอุปกรณ์ ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ โทรคมนาคม และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จะมีขนาด 1,600 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 1994 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึงร้อยละ 20 ต่อปี
การลงทุนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดศักยภาพในการแข่งขัน จึงย่อมส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจของนานาประเทศ จากผลการศึกษาใน 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีทั้งประเทศที่ถือว่าพัฒนาแล้ว พัฒนาใหม่ และกำลังพัฒนา
เทคโนโลยีสารสนเทศจะมีผลกระทบต่อสังคมมากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์จะเลือกใช้มันอย่างไร ในโลกปัจจุบันแรงผลักดันทางเศรษฐกิจมักจะมีบทบาทสูงในการกำหนดทิศทางของเทคโนโลยีเป็นที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยีการสื่อสารทั้งในอดีตและปัจจุบันได้เปลี่ยนโฉมไปอย่างมาก ในอนาคตธุรกิจบันเทิงจะเป็นธุรกิจอีกประเภทหนึ่งที่จะทำเงินให้แก่ผู้ประกอบการทางด้านการสื่อสารโทรคมนาคม เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีอิทธิพลอย่างสูงกับแนวความคิด ความอ่านของผู้คนในสังคม เพราะเป็นวิถีทางหนึ่งที่ผู้ร่วมบันเทิงได้รับอิทธิพลทางความคิดจากผู้อื่นที่ร่วมอยู่ในวงบันเทิง และยอมรับสถานภาพว่าตนก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นๆ การถ่ายทอดแนวความคิดระหว่างบุคคลในสังคมนั้นก็เป็นสิ่งที่เราเรียกว่า วัฒนธรรมนั่นเอง

สารสนเทศกับบุคคล
การพัฒนาของเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้เกิดความต้องการและการใช้สารสนเทศของบุคคลเพิ่มมากขึ้น สารสนเทศมีการใช้สารสนเทศเพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจในเรื่องที่ตนเกี่ยวข้อง และนำความรู้ความเข้าใจมาตัดสินใจแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว ทันเวลากับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม เป็นเรื่องราวที่มีความสำคัญไม่จำกัดเฉพาะนิสิต นักศึกษา นักวิชาการ แต่มีความสำคัญกับบุคคลในทุกสาขาอาชีพและทุกวัย
เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเรื่องที่ใกล้ชิดและเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ เช่น การถอนเงินอัตโนมัติ ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ การซื้อขายสินค้าทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การประชุมทางไกล การศึกษาทางไกล ระบบห้องสมุดดิจิตอล การเข้าถึงบริการและสารสนเทศต่างๆ ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

สารสนเทศกับสังคม

สารสนเทศนอกจากมีความสำคัญต่อตัวบุคคลดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีความสำคัญต่อสังคมในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านวัฒนธรรม
  1. ด้านการศึกษา การจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยครูผู้สอนทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำ ช่วยเหลือ และกระตุ้นให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ส่งผลให้สารสนเทศมีความสำคัญต่อการเรียนการสอนในทุกระดับการศึกษา สารสนเทศที่ดีมีคุณค่าและทันสมัย จะช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ จำเป็นต้องใช้สารสนเทศที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ถูกต้องจากหลายแขนงวิชามาพัฒนาให้เกิดความรู้ใหม่ขึ้นมาได้
  2. ด้านสังคม สารสนเทศช่วยพัฒนาสติปัญญาของมนุษย์ ช่วยพัฒนาบุคลิกภาพส่วนบุคคลให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข อีกทั้งช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่นำมาซึ่งความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต เราใช้สารสนเทศเพื่อการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ทั้งการประกอบอาชีพ การป้องกัน และแก้ไขปัญหาชีวิต สารสนเทศช่วยขยายโลกทัศน์ของผู้ได้รับให้กว้างขวาง สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างมนุษยชาติ ช่วยลดความขัดแย้ง ทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
  3. ด้านเศรษฐกิจ สารสนเทศมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เรียกว่า เศรษฐกิจบนฐานความรู้ หน่วยงานหรือผู้ประกอบการธุรกิจให้ความสำคัญกับ “การจัดการความรู้” เพื่อรักษาองค์ความรู้ขององค์กรไว้ สารสนเทศด้านธุรกิจการค้าจึงถือเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญในการแข่งขัน ทั้งนี้เพราะสารสนเทศช่วยประหยัดเวลาในการผลิต ลดขั้นตอน การลองผิดลองถูก อีกทั้งช่วยให้องค์กรได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้ตามความต้องการของตลาด
  4. ด้านวัฒนธรรม สารสนเทศเป็นรากฐานที่จำเป็นสำหรับความก้าวหน้าของอารยธรรม สารสนเทศช่วยสืบทอดค่านิยม ทัศนคติ ศิลปะ และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์อันดีงามของชาติ ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ความสามัคคี ความมั่นคงในชาติ

บทบาทเทคโนโลยีสารสนเทศต่อการศึกษา


ในปัจจุบันประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยได้นำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เนื่องด้วยคุณลักษณะที่เอื้อต่อการศึกษา ทำให้เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนคนไทยในหลายมิติ ดังนี้
เทคโนโลยีลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษา ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการตอบสนองนโยบายการศึกษาที่เป็น “การศึกษาเพื่อประชาชนทุกคน” อันเป็นการสร้างความเท่าเทียมทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเท่าเทียมทางการศึกษา เช่น การติดตั้งจานดาวเทียมในโรงเรียนชนบทห่างไกล เพื่อให้นักเรียนได้รับโอกาสในการศึกษาที่เท่าเทียมกับรักเรียนในพื้นที่อื่นๆ การติดตั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทำให้ครูและนักเรียนสามารถเข้าถึงสารสนเทศแหล่งข้อมูลจากทั่วโลก นอกจากนี้เทคโนโลยีสารสนเทศยังช่วยให้ผู้พิการมีโอกาสได้รับการศึกษาและการประกอบอาชีพในสิ่งแวดล้อมของคนปกติ
เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา กล่าวคือนวัตกรรมทางการศึกษาในปัจจุบันเป็นผลสืบเนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การผลิตสื่อการศึกษาในรูปแบบซีดีรอม ช่วยให้นักเรียนที่เรียนรู้ช้าได้มีโอกาสเรียนรู้ตามศักยภาพของแต่ละคน การนำเสนอสื่อการศึกษาในปัจจุบันยังมีความหลากหลาย โดยมีการนำเสนอด้วยเสียง ข้อความ ภาพ และภาพเคลื่อนไหว ซึ่งเอื้อต่อการเรียนรู้และกระตุ้นความสนใจในการศึกษาของผู้เรียนทุกวัย นอกจากนี้เทคโนโลยีเสมือนจริง ยังช่วยพัฒนาบุคลิกภาพการศึกษาในวิชาชีพที่ภาคปฏิบัติมีความสำคัญ เช่น การฝึกนักบิน การสอนภาคปฏิบัติแก่นักนิสิตคลินิก เป็นต้น
เทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนต่อการฝึกอบรม การประชุมและการติดต่อสื่อสาร เช่น การอบรมทางไกล การประชุมทางไกล การประชุมผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้การฝึกอบรมประหยัดเวลาและงบประมาณ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่ บุคลากร และเวลา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การนำอินเทอร์เน็ตมาสนับสนุนต่อการสื่อสารระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น